ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอัจฉริยภาพด้านงานศิลปะและการออกแบบ

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่า 60 ปี อันเป็นระยะเวลาครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติ ศาสตร์ชาติไทย และในช่วงเวลาของการครองสิริราชสมบัติทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลต่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ งานด้านศิลปะและการออกแบบซึ่งในอดีตมักเรียกรวมกันว่า “งานช่าง” นั้น นับเป็นพระราชกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่ทรงมีความสนพระราชหฤทัยยิ่ง ผลงานด้านศิลปะและการออกแบบ ตลอดจนงานช่างฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหลากหลายรูปแบบและมีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน เช่น การถ่ายภาพ ดนตรี งานจิตรกรรม และการออกแบบเรือใบ เป็นต้น
         เมื่อทรงพระเยาว์ผลงาน ฝีพระหัตถ์แสดงให้เห็นทั้งพระอัจฉริยภาพใน การริเริ่มสร้างสรรค์และการประสานความงามกับประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์ให้เข้ากันอย่างดี ครั้นเมื่อทรงมีพระราชภารกิจที่ต้องทรงห่วงใยทุกข์สุขของประชาชน งานประดิษฐ์ฝีพระหัตถ์ก็เน้นประโยชน์มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพของแหล่งน้ำ เช่น กังหันชัยพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการวางแผนและการออกแบบสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ผังเมือง และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ พระราชดำริต่างๆ นับตั้งแต่เมื่อทรงริเริ่มโครงการ ตลอดจนเมื่อพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานล้วนเป็นไปตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่วัฒนธรรมและความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทย
         
เนื่องในโอกาสการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พุทธศักราช 2549 และการเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2550 มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงจัดโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระสำคัญดังกล่าวในหัวข้อ “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ” เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจทาง ด้านศิลปะและการออกแบบ และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความจงรักภักดีของเหล่าศิลปิน สถาปนิก และนักออกแบบทั้งหลายที่เคยมีโอกาสได้รับใช้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในการถวายงานสนองพระ ราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในโครงการต่างๆ โดยที่โครงการที่นำมาเผยแพร่เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจทางด้านทัศนศิลป์และการออกแบบเท่านั้น
         กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ
         การแสดงนิทรรศการ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ” ระหว่างวันที่ 1-28 ธันวาคม 2550 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
         พระราชกรณียกิจด้านจิตรกรรม

         ผลงานภาพจิตรกรรมในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
         ภาพจิตรกรรมชุดพระมหาชนก เป็นภาพจิตรกรรมที่ทรงมอบหมายให้คณะศิลปินไทย ซึ่งประกอบด้วยศิลปินอาวุโสและศิลปินรุ่นใหม่ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย ประหยัด พงษ์ดำ, พิชัย นิรันต์, ปรีชา เถาทอง, ปัญญา วิจินธนสาร, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, เนติกร ชินโย, ธีระวัฒน์คะนะมะ และจินตนา เปี่ยมศิริ เป็นผู้เขียนขึ้นในระหว่าง พ.ศ.2536-2539 โดยมีพระราชดำริและมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างละเอียดทุกขั้นตอน คณะศิลปินดังกล่าวได้แบ่งกันวาดภาพประกอบรวมทั้งสิ้นจำนวน 36 ภาพ เพื่อเป็นการถ่ายทอดความงามจากบทพระราชนิพนธ์ให้เป็นภาพจิตรกรรมที่งดงามและมีเนื้อเรื่องครบถ้วนสมบูรณ์
         พระราชนิพนธ์พระมหาชนก นับเป็นผลงานศิลปะที่แสดงพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ เป็นงานสร้างสรรค์ที่อาจกล่าวได้ว่าแสดงลักษณะของศิลปกรรมประเภทหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ประสานลักษณะของศิลปไทยประเพณีและเนื้อหาของเรื่องโบราณ ร่วมกับการแสดงออกด้วยเทคนิควิธีร่วมสมัยเป็นการนำเอารากฐานวัฒนธรรม ความคิดโบราณมาเสนอให้คนสังคมปัจจุบันได้ตระหนักและพยายามสร้างสังคมที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต
         พระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรม
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชภารกิจเกี่ยวกับโครงการสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอันหลากหลาย พระราชกรณียกิจทางด้านสถาปัตยกรรมนั้นอาจแบ่งประเภทได้ ดังนี้
ด้านสถาปัตยกรรมไทย
       - พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ สาธารณรัฐอินเดียแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2547
       - การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน พระบรมมหาราชวัง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2547
       - พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2540
       - พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2530
       - พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ ท้องสนามหลวง แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2528
       - ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529
       - ศาลสมเด็จพระนเรศวร จังหวัดหนองบัวลำภู แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511
       - พระอุโบสถวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2509
ด้านสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย
       - อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2536
       - หอสมุดดนตรีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2535
ด้านนาวาสถาปัตยกรรม
       - การออกแบบเรือใบ
       - เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539
       - เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550
ด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
       - การอนุรักษ์พระบรมมหาราชวัง
       - การอนุรักษ์พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน พ.ศ.2537-2547
ด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม
       - ถนนสุทธาวาส ปี แล้วเสร็จเมื่อ ปี พ.ศ. 2536
       - ถนนหยดน้ำ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537
       - โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2537
       - โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2537
       - โครงการสะพานคู่ขนานบรมราชชนนี ปี พ.ศ. 2539-2541
       - โครงการสะพานพระราม 8 ปี พ.ศ. 2541-2544
         พระราชกรณียกิจด้านมัณฑนศิลป์
         เป็นพระราชกรณียกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรอันงดงาม เรียบง่าย และพอเพียง เช่น การออกแบบตกแต่งภายในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย ประหยัด แต่มีความสง่างาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ขณะเดียวกันต้องให้มีความสมพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทย ส่วนการออกแบบกังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านการออกแบบตกแต่งภายใน
       - พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
ด้านการออกแบบนิเทศศิลป์
       งานออกแบบนิเทศศิลป์ที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง
       - ตราสัญลักษณ์มูลนิธิชัยพัฒนา
       - การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยคอมพิวเตอร์
       - การออกแบบบัตรส่งความสุขปีใหม่ (ส.ค.ส.)
       - ตราสินค้า “สุวรรณชาด” และการออกแบบตราสัญลักษณ์
       งานออกแบบนิเทศศิลป์ที่มีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัย
       - ตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙
       - ตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พุทธศักราช 2549
       - ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2550
       - การออกแบบตัวอักษรคำว่า “โซลูน่า 1.5“
       - ภาพประกอบพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง ทองแดง ฉบับการ์ตูน
ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์
       งานออกแบบผลิตภัณฑ์ส่วนพระองค์
       - หุ่นจำลอง
       - เรือใบส่วนพระองค์ แบ่งเป็นประเภท 4 ประเภท ประกอบด้วยเรือใบสากลประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ ประเภทโอเค ประเภท ม็อธ 3 แบบ ได้แก่ เรือใบมด เรือใบซุปเปอร์มด เรือใบไมโครมด และประเภทเรือโม้ก
       งานออกแบบผลิตภัณฑ์ตามแนวพระราชดำริ
       - หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
       - กังหันน้ำชัยพัฒนา
         สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร และเหรียญรางวัล
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระปรีชา พระอัจฉริยภาพในการพัฒนา และทรงพระราชทานแนวคิดเพื่อการออกแบบ โดยนำหลักการทางเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ปรับปรุงเพื่อช่วยเหลือโครงการ พระราชดำริต่างๆ ที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิริยะอุตสาหะในการพัฒนา ผลงานด้านสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 6 ผลงาน
         นอกจากนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรจะจัดบรรยาย เสวนาทางวิชาการ ครั้งที่ 3 การเสวนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติ ในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานศิลปะและการออกแบบ”วันที่ 14 ธันวาคม 2550 ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
         การจัดทำหนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจ
         “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับศิลปะและการออกแบบ” หนังสือรวบรวมผลงานพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านศิลปะและการออกแบบเนื้อหาประกอบด้วย
       • จิตรกรรมในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก
       • พระราชกรณียกิจด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ด้านสถาปัตยกรรมไทย ด้าน
         สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ด้านนาวาสถาปัตยกรรม ด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม พระราชกรณียกิจด้านมัณฑณศิลป์ ประกอบด้วย ด้านการออกแบบตกแต่งภายใน
       • ด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์จัดพิมพ์พร้อมภาพประกอบ 4 สี ทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษขนาดหนังสือ 30.00 X 32.50 เซนติเมตร จำนวน 174 หน้า
พระมหาชนก
เครื่องมือและโต๊ะทรงงานส่วนพระองค

ฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หั

พระราชนิพนธ์ "ทองแดง"

ทรงออกแบบตัวอักษร โซลูน่า 1.5

แหล่งที่มา
      เอ็มจีอาร์ ออนไลน์. (2550).  พระอัจฉริยภาพ “ในหลวง” กับงานศิลปะและการออกแบบ ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60

      จาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000133942