ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดการเล่น กีฬา มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี น่าสังเกตว่ากีฬาที่โปรด มักเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้แต่พละกำลังเพียงอย่างเดียว คือ ต้องอาศัยความรู้รอบตัวและเทคนิคไหวพริบ ผนวกกับความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในกีฬานั้นๆ

สกีน้ำแข็ง
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสกีน้ำแข็งครั้งแรกในช่วงปีพุทธศักราช 2477 – 2478 เมื่อมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ขณะประทับ และทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเชษฐาธิราช (รัชกาลที่ 8) และพระเชษฐภคินี (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ) ทรงมี Monsieur Chatelanat ชาวสวิสเป็นครูฝึก พระปรีชาสามารถในการทรงสกีน้ำแข็งปรากฏในพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่มีมาถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ว่า “…นันทกับเล็กสกีหลายหน ทำเก่งกันทั้งคู่ เล็กยิ่งทำดีกว่านันท ทำน่าเอ็นดู ใครๆ เห็นเข้าก็งงงวย เพราะเล็กนิดเดียวทำได้ดีมาก…” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ยังโปรดทรงสกีน้ำแข็งตลอดมาขณะประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งเจริญพระชนมายุ นอกจากนี้แล้วยังทรงสเก็ตน้ำแข็ง เลื่อนหิมะและเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งด้วย
เรือใบ
       พระอัจฉริยภาพในด้านกีฬาเรือใบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ปรากฏเป็นที่ยอมรับในสากลโลก ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อทรงชนะเลิศทรงเรือใบเข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับ 1 ทรงรับการถวายเหรียญทอง จาการแข่งขันเรือใบประเภท โอ.เค. พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ในวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 นำความปลื้มปีติแก่พสกนิกรไทยทั้งมวลปริญญาบัตร สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา
       พ.ศ. 2508 เจ้าชายฟิลิปส์ แห่งเอดินบะดะ เสด็จประพาสเมืองไทยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบว่าเจ้าชายโปรดเล่นเรือใบ จึงทรงตั้งสโมสรเรือใบหลวงจิตรดาขึ้น และจัดการแข่งขันเรือใบจากพัทยาไปเกาะล้านผู้ร่วมการแข่งขันในครั้งนั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจ้าชายฟิลอปส์ และนักกีฬาทีมชาติสหรัฐอเมริกาอีกคนหนึ่งซึ่งแวะเมืองไทยก่อนจะเดินทางไปแข่งที่นิวซีแลนด์แล้ว ยังมีเรือใบอื่นๆ ร่วมแข่งขันด้วยรวมทั้งสิ้น 34 ลำ ซึ่งถือว่าเป็นการแข่งขันครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในสมัยนั้น "เรือที่พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการแข่งขันคือเรือราชปะแตนที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง" ผลการแข่งขันปรากฏว่าเรือใบซึ่งพระองค์ทรงเป็นกัปตัน และหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทำหน้าที่เป็นลูกเรือ เข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง กล่าวกันว่าพระปรีชาสามารถในครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือ จนแม้แต่หนังสือพิมพ์นิวซีแลนด์ก็ยังลงข่าวนี้
       19 เมษายน พ.ศ. 2509 พระบาทสมพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเรือใบประเภทโอเค ขนาด 13 ฟุต ชื่อ ‘เวคา’ (VEGA) จากหน้าพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เวลา 04.28 นาฬิกา ไปถึงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เวลา 21.28 นาฬิกา ทรงแล่นไปข้ามอ่าวไทยโดยลำพังเพียงพระองค์เดียว โดยใช้เวลาในการแล่นใบนานถึง 17 ชั่วโมงเต็ม ระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล พระบาทสมพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำธง ‘ราชนาวิกโยธิน’ ที่ทรงนำข้ามอ่าวไทยมาด้วยปักเหนือยอดก้อนหินใหญ่ที่ชายหาดของอ่าวเตยงาม และทรงลงพระปรมาภิไทยบนแผ่นศิลจารึก นับแต่นั้นมาธงราชนาวิกโยธินก็โบกสะบัดเหนือก้อนหินใหญ่ที่อ่าวนาวิกโยธิน สัตหีบ มาจนถึงปัจจุบัน
       นอกจากนั้นพระองค์ทรงอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือ  เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2507 เป็นเรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) ชื่อ "เรือราชปะแตน" และลำต่อมาชื่อ "เรือเอจี" โดยทรงต่อตามแบบสากล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแข่งขันแล่นใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ เช่น ในปีพุทธศักราช 2508 ทรงใช้เรือราชปะแตนแข่งขันกับ ด็อค ออฟ เอดินเบอระ (The Duke of Edinburgh) พระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ โดยใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา – เกาะล้าน ในปีพุทธศักราช 2508 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบ ประเภทโอเค (International OK Class) ตามแบบสากลลำแรกที่ทรงต่อชื่อ "เรือนวฤกษ์" หลังจากนั้นทรงต่อเรือใบ ประเภทนี้อีกหลายลำ เช่น เรือเวคา 1 เรือเวคา 2 และเรือเวคา 3 เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงออกแบบและ ต่อเรือใบ ประเภทม็อธจำนวนหลายลำ เรือประเภทนี้เป็นเรือที่กำหนดความยาวตัวเรือไม่เกิน 11 ฟุต เนื้อที่ใบ ไม่เกิน 75 ตารางฟุต ส่วนความกว้างของเรือ รูปร่างลักษณะของเรือ ความสูงของเสา ออกแบบได้โดยไม่จำกัด วัสดุที่ใช้สร้างเรืออาจทำด้วยโลหะ ไฟเบอร์กลาส หรือไม้ก็ได้ เรือม็อธที่ทรงออกแบบและทรงต่อด้วยพระองค์เองในระหว่างปีพุทธศักราช 2509 - 2510 มีอยู่ 3 แบบ ซึ่งได้พระราชทานชื่อดังนี้ เรือมด เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2510 คือ "เรือโม้ก" (Moke) เป็นเรือที่ทรงทดลองสร้างโดยทรงออกแบบให้มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเค และเรือซุปเปอร์มด คือทรงออกแบบให้มีขนาดของลำเรือใหญ่กว่าเรือซุปเปอร์มด โดยให้มีขนาดใกล้เคียงเรือโอเค และใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอเค

       หลังจากทรงออกแบบเรือโม้กแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงออกแบบเรือใบอีก เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงออกแบบและทรงต่อเรือใบแล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่ง เมื่อวันที่19 เมษายน พุทธศักราช 2509 พระองค์ได้ทรงเรือใบเวคา 1 แล่นข้ามอ่าวจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ถึงอ่าวสัตหีบ ระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ทรงใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง นับว่าทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างสูง นอกจากนี้ ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2510 ด้วยพระองค์ หนึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ทรงใช้เรือใบประเภทโอเค ซึ่งทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองและทรงเป็นผู้ชนะเลิศ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 ต่อมารัฐบาลได้กำหนดวันนี้ของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ นอกจากความสนพระราชหฤทัยส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงสนับสนุนให้กีฬาเรือใบเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือสร้างเรือใบมด และเรือซุปเปอร์มดตามแบบของพระองค์จำหน่ายแก่มวลสมาชิกในราคาถูก และทรงตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ชื่อ "สโมสรหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา" ในสวนจิตรลดา และมีสโมสรอื่นๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์ ได้แก่ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย, สโมสรเรือใบราชวรุณ ที่เมืองพัทยา เป็นต้น จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สนพระราชหฤทัยในกีฬาเรือใบเป็นอย่างยิ่งประกอบกับทรงมีพระปรีชาสามารถทางการช่าง จึงทำให้ทรงมีผลงานการออกแบบและต่อเรือใบที่ดีเลิศ อีกทั้งทรงพิชิตเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย พุทธศักราช 2510 ด้วยเรือที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นอัจฉริยะทางการช่างอย่างแท้จริง
       อีกเหตุการณ์หนึ่งระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศกับกีฬาเรือใบที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน เมื่อทรงเป็นนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติของการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 นั้นทรงเรือเวคา 2 ใบ เรือหมายเลข TH 27 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (พระอิสสริยยศในขณะนั้น) ทรงเรือเวคา 1 ใบ เรือหมายเลข TH 18
       การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และนักกีฬาทีมชาติพม่าซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในการแข่งขันรอบสุดท้ายกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องทรงเรืออ้อมทุ่นผิดตำแหน่ง แม้กระนั้นก็ยังทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยเป็นพระองค์แรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยภายหลังจากเข้าเส้นชัยและทรงทราบว่าอ้อมเรือผิดทุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้นคณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ

       ทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นเพียงแค่บางช่วงบางตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงใช้พระราชจริยาวัตรแสดงให้เห็นว่า ในหลวงของคนไทยนั้นทรงเข้าใจเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
แบดมินตัน
       หนึ่งในกีฬาทรงโปรดของพระองค์คือ"แบดมินตัน" และมีสายพระเนตรยาวไกลว่านี่คือกีฬาที่คนไทยสามารถไปไกลได้ถึงระดับโลก โดยทรงรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดว่า แบดมินตันเป็นกีฬาหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่คนไทยสามารถที่จะไต่เต้าไปสู่ระดับโลกได้ เพราะไม่เสียเปรียบด้านรูปร่าง และพละกำลังมากจนเกินไป และในปีพุทธศักราช 2493 ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย นอกจากทรงแบดมินตันเป็นการส่วนพระองค์แล้ว พระองค์ยังทรงสนพระทัยในการกีฬาแบดมินตันเป็นอันมาก ทรงสามารถวิเคราะห์ถึงการเล่น และรับสั่งวิจารณ์ถึงวิธีการ เล่นของนักแบดมินตันระดับโลกแต่ละคนได้เป็นอย่างดี และทรงมาปรับปรุงเพื่อพัฒนา ฝีมือ เทคนิคการเล่นของพระองค์เอง กับทั้งทรงชี้แนะพระราชทานข้อแก้ไขเทคนิคการเล่นแก่นักกีฬาไทย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน อดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย เคยเล่าไว้ว่า ..ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านรับสั่งถามว่าหนักใจไหมที่เล่นกับเออร์แลนด์ คอปส์ และที่หนักใจนั้น หนักใจในการเล่นแบบไหนของคอปส์ จำได้ว่ากราบบังคมทูลพระองค์ท่านว่า เออร์แลนด์ คอปส์ มีลูกตบที่รุนแรง ที่เสียแต้มให้คอปส์ ส่วนมากเป็นเพราะรับลูกตบที่หนักหน่วงไม่ได้ และคอปส์ยังมีพละกำลังมาก อึดและอดทน ยิ่งเล่นก็ยิ่งมีกำลังมาก ยังจดจำใส่เกล้าใส่กระหม่อมตราบเท่าทุกวันนี้ ....
       พระองค์ท่านรับสั่งว่า "เมื่อคอปส์มีลูกตบที่หนักและรุนแรง สิ่งที่ควรจะทำคือ หลีกเลี่ยงอย่าให้คอปส์ตบลูกได้บ่อย หรือใช้ลูกตบได้ถนัด ควรดึงคอปส์มาเล่นลูกหน้าให้มาก เมื่อเขาพะวงบริเวณหน้าตาข่าย จะทำให้เขาถอยตบลูกไม่ถนัด"..... และนั่นคือกลยุทธ์ที่ผู้เขียนใช้ปราบมือแชมเปี้ยนโลกชาวเดนมาร์กผู้นี้ ในการป้องกันตำแหน่งแชมเปี้ยนชายเดี่ยวออลมาลายัน ที่เกาะสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2502..." ความทรงโปรดกีฬาแบดมินตัน ทำให้เมื่อ พ.ศ.2555 สหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิลยูเอฟ) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายอิสริยาภรณ์สูงสุด “เพรสซิเดนท์ เมดัล” ซึ่งเป็นเพียงพระองค์เดียวในโลกที่ได้รับรางวัลนี้ จากปี 2493 ที่ก่อตั้งสมาคมแบดมินตันฯ ในปี 2500 ทีมแบดมินตันไทยเข้าไปถึงระดับแชมเปี้ยนโซนเอเชีย และเข้าไปชิงชนะเลิศโลกในปี พ.ศ.2502 และ 2505 ทำให้หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ของมลายู (ในสมัยนั้น) รายงานว่า อาวุธลับความสำเร็จของทีมแบดมินตันไทย คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสิน ซึ่งได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัย ซิตี้ ออฟ ลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีต่อตนและวงการแบดมินตันไทย โดยทรงโปรดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาสนับสนุนกีฬาแบดมินตันเต็มรูปแบบ จนมีรากฐานที่ดี ทำให้ไทยมี 5 แชมป์เยาวชนโลก 2 แชมป์เอเชีย 1 แชมป์โลก และแชมป์ระดับนานาชาติอีกนับไม่ถ้วน
       “ผมรู้สึกตื้นตันในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเล่นและทรงสนับสนุนกีฬาแบดมินตัน ในอดีตสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งมีพระปรีชาสามารถในกีฬาแบดมินตันไม่น้อย โดยเฉพาะลูกตบที่หนักหน่วง แบ๊คแฮนด์ และลูกโอเวอร์เฮดที่ยอดเยี่ยม เมื่อคู่พาร์ทเนอร์ของพระองค์เล่นเสียก็ไม่ได้แสดงอาการโกรธแต่อย่างใด เพียงแต่ตรัสว่า นั่นสิ เท่านั้น ซึ่ง หว่อง เป็ง สุน อดีตนักแบดมินตันระดับโลกชาวสิงคโปร์ ก็เคยมาร่วมเล่นแบดมินตันกับพระองค์ และชื่นชมในพระปรีชาสามารถการทรงแบดมินตันเป็นอย่างมาก” ศาสตราจารย์เจริญกล่าว นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ ได้เขียนบทความเรื่อง "สมเด็จพระเทพฯ ทรงกีฬาที่ มศว ประสานมิตร" ในหนังสือเจ้าฟ้านักพัฒนาฯ ว่านับเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่ทางการกีฬาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขณะทรงเป็นนิสิตปริญญาเอก สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์รุ่นที่ 4 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการแข่งขันกีฬาขึ้นที่โรงพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขต ประสานมิตร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2525 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาในชุดวอร์มสีเทาขลิบแดง ทรงถือแร็กเกตแบดมินตันมาด้วยพระองค์เองทรงแย้มพระสรวลรับการถวายความเคารพของเหล่านิสิตอยู่ตลอดเวลา และลงแข่งแบดมินตันคู่ผสม พระองค์ท่านคู่กับรองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย อินทรประวัติ
       พระองค์รับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทอดพระเนตรข่าวการแข่งขันจากโทรทัศน์ แล้วทรงมีรับสั่งชมเชยว่า เก่งนี่ ขนาดเล่นแบดมินตันไม่เป็น ก็ยังสามารถแข่งกับเขาได้ พอเวลาประมาณสองยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯก็มีรับสั่งให้เข้าเฝ้า และได้ทรงสอนให้เล่นแบดมินตันอยู่ตั้งนาน นี่คือนักแบดมินตันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของคนไทย



แหล่งที่มา
      พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. 2560). ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60 จาก http://sport.trueid.net/detail/69267
      พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ รัชกาลที่ 9. (2559). ค้นเมื่อวัน 4 ก.ย. 60
      จาก http://www.football-crazy.com/2016/10/พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา-พ/