ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชดำรัส




เรื่องน้ำ
“... วันนี้ก็ขอพูดขออนุญาตที่จะพูด เพราะว่าอั้นมาหลายปีแล้ว
เคยพูดมาหลาย ปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำเพียงพอและเหมาะสม

คำว่า “พอเพียง” ก็หมายความว่า ให้มีพอในการบริโภคในการใช้
ทั้งในด้านการบริโภคในบ้านทั้งในการใช้ เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม
ต้องมีพอ ถ้าไม่มีทุกสิ่งทุกอย่างก็ชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภาคภูมิใจ
ว่าประเทศเราก้าวหน้าเจริญก็ชะงัก ไม่มีทางที่จะมีความเจริญ ถ้าไม่มีน้ำ ...

...โครงการที่คิดจะทำนี้ บอกได้ว่าไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้ว
เพราะเกรงว่าจะมี การคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้งเหล่านักต่อต้านโครงการ
แต่โครงการนี้เป็นโครงการอยู่ใน วิสัยที่จะทำได้ ไมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อย
แต่ถ้าดำเนินไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปีข้างหน้า เราสบาย และถ้าไม่ทำ อีก 5-6 ปี ข้างหน้า
ราคาค่าก่อสร้างค่าดำเนินการ ก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่าลงท้ายก็ต้องประวิงต่อไป
และเมื่อประวิงต่อไป ก็จะไม่ได้ทำ เราก็จะต้องอดน้ำแน่
จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราจะอพยพไปที่ไหนก็ไม่ได้ ...


... ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้ ดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้
หมู่นี้ก็พูดกันอย่างขวัญเสียว่า อีกหน่อยจะต้องปันส่วนน้ำ

หรือแม้แต่จะต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ
ฉะนั้น ต้องหาทางแก้ไขเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้วางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติ ตามแผนนั้นๆ แล้ว วันนี้ก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำ
โครงการโดยเฉพาะนั้นก็มีแล้วโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนที่แล้ว
เมื่ออยู่ที่นราธิวาสได้วางโครงการ ที่แม้จะยังไม่แก้ ปัญหาปีนี้หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างดี
ในประมาณ 5 หรือ 6 ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง..."
พระราชดำรัสถึงโครงการกักเก็บน้ำป่าสัก จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี
โครงการเขื่อนเก็บน้ำแม่น้ำนครนายก จ.นครนายก
โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา วันที่ 4 ธันวาคม 2536


"... เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น
แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้

เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต
แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็
จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่น ในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้อง มีน้ำในนั้นด้วย
ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป
ฉะนั้น น้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า
ทำไมการพัฒนา ขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน
แล้วก็โครงการ สิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ถ้าหากว่า
ปัญหาของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด
ก็ทำให้เรามีน้ำใช้ อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้นสิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้
นอกจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น
ตลอดจนถึง การพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม
หรือการค้า หรือการคลัง อะไร พวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป... "

พระราชดำรัส วันที่ 29 ธันวาคม 2532 พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

“... การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่

งานที่ทำนี้ก็ต้องส้นเปลืองไม่ใช่น้อย แต่ถ้าผลที่ได้ คือจะเป็นผลที่น่าพอใจ
การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลายๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะ
ที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูการไม่ได้ ไม่ใช่ว่าฝนแล้ง
จะบันดาลได้อย่างปาฏิหาริย์ ทำให้ มีฝนเพียงพอกับการเพาะปลูกมิได้ หรือจะแทนการ
ชลประทานที่ขุดเรียบร้อยกว้างขวางก็ไม่ได้ แต่เป็นทางหนึ่งที่มีหวัง สำหรับฤดูกาล
ที่ควรจะมีฝน และฝนเทียมจะช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้
การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งใหม่ จึงต้องทำโครงการ อย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง
ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้น เปลืองโดยใช่เหตุ...”

พระราชดำริ วันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

... ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสด

ราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้ง
คลุมด้วยตาข่าย ช่วยปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ
เพื่อใช้เก็บกักน้ำ และตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้
จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง
ต่อไปจะสามารถ ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ
เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...”
พระราชดำรัส วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

“...ให้ดำเนินการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูง
ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝาย
ดังกล่าวจำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำ
ไว้ได้ปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรง
และโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้ง อย่างสม่ำเสมอ
โดยการจ่ายน้ำไปรอบๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้..."
พระราชดำรัส วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2521 อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน


“... อาจมีบางคนเข้าใจว่า ทำไมจึงสนใจเรื่องชลประทาน หรือเรื่องป่าไม้

จำได้เมื่ออายุ 10 ขวบ ที่โรงเรียนมีครู ซึ่งเดี๋ยวนี้ตายไปแล้ว สอนเรื่องวิทยาศาสตร์
เรื่องการอนุรักษ์ดิน แล้วให้เขียนว่าภูเขาต้องมีป่าไม้อย่างนั้น เมื่อเม็ดฝน
ตกลงมาแล้วจะชะดินลงมาเร็ว ทำให้ไหลตามน้ำไป ทำความเสียหายดินหมดจากภูเขา
เพราะไหลตามสายน้ำไปก็เป็นหลักของป่าไม้ เรื่องการอนุรักษ์ และเป็นหลักของชลประทาน
ที่ว่า ถ้าเราไม่รักษาป่าไม้ข้างบน จะทำให้เดือดร้อนตลอด
ทั้งดินบนภูเขาจะหมดไป กระทั่งมีตะกอนลงมาในเขื่อน
มีตะกอนลงมาในแม่น้ำ ทำให้น้ำท่วมนี้นะ เรียนมา ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ..."
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512

“...สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่บริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี
เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับ
ก็ควรสร้างฝายขนาดเล็ก กั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม
สำหรับแหล่งน้ำ ที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำ ลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก...”
“... ควรสร้างฝายต้นน้ำ ลำธารตามร่องน้ำ เพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำ
และกักเก็บน้ำ สำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ...”
พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2532 ณ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่


“…เช่นเดียวกับที่เล่าให้ฟัง เรื่องโครงการแห่งหนึ่งที่ภาคเหนือ ที่สันกำแพง
ไปดูสถานที่ชาวบ้านเองก็ขอให้ทำ อ่างเก็บน้ำ
ตรงนั้นคือห้วยลาน แล้วช่างก็บอกว่าทำได้
ทางส่วนราชการได้แก่ กรมชลประทาน กับสำนักเร่งรัด พัฒนาชนบท รพช.
ร่วมกันช่วยทำ… ส่วนอ่างเก็บน้ำนั้นก็เสร็จภายใน 7-8 เดือน เก็บน้ำได้
ในปีต่อไป ไปดู ปลูกข้าวได้แล้ว น้ำในหมู่บ้านมี ไม่ต้องเดิน 3 กิโลเมตร
ไปตักน้ำที่อื่น ที่แหล่งน้ำอื่น ภายในปีหนึ่งประชาชนได้รับ ผลประโยชน์ของการกำจัด
ภัยแล้งที่ตรงนั้น ก็หมายความว่า ไม่ช้า ลงมือทำแล้วได้ผลนับว่าทันที…”


“... การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือ การควบคุมน้ำให้ได้ ดังประสงค

ทั้งปริมาณ และคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป
ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเสียหายได้
และในขณะที่เกิดภาวะขาด และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน
ก็จะต้องมีนำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร
การอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค ปัญหามีอยู่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำ
อาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว
เมื่อเกิดภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน
สูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ทั้งส่งผลเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง …”


“…การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้นสำคัญอยู่ที่การรักษาป่า

และปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขาและ เนินสูงขึ้น ต้องมีการปลูกป่า
โดยไม้ยืนต้น และปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้น ราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้
แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น
เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบ ธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนภูเขา
ไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว
ท้องถิ่นจะมี น้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน”...


“... แต่มีวิธีที่จะทำได้ เพื่อบรรเทาสถานการณ์ เช่น ทำฝนเทียม หมายความว่า
ความชื้นที่ผ่านมาเหนือเขต เราดัก เอาไว้
ให้ลงได้ ปีนี้ทำมากพอใช้
ทำเป็นเวลาต่อเนื่องกันไปประมาณ 3 เดือน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ทำนั้น
ต้องเหน็ด เหนื่อยมากเพราะว่าเครื่องบินมีน้อย อุปกรณ์มีน้อย
เจ้าหน้าที่ที่ทำฝนเทียมนั้น ต้องเสี่ยงอันตรายมาก
เพราะเครื่องบินที่มีอยู่ก็เก่าแล้ว และชำรุดบ่อย …”


“...  ลิงโดยทั่วไป  ถ้าเราส่งกล้วยให้  ลิงก็จะรีบปอกเปลือกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ
 
แล้วเอาไปเก็บที่แก้มจะกิน กล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี 
โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน  แล้วจะนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง 
ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ 
จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง
บริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ...”
โครงการแก้มลิงเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการ
น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล


“…  ควรจะมีโครงการศึกษาพฤติกรรมการไหลของน้ำในแม่น้ำ
เจ้าพระยา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำเหนือหลากให้สอดคล้องกับสภาพ
น้ำทะเลหนุนในช่วงฤดูฝนอย่างมีประสิทธิภาพ  ...”

การวิเคราะห์ไปใช้สำหรับการบริหารจัดการปริมาณน้ำเหนือที่ไหล
ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธ
ิ์

“…  ควรจะมีโครงการศึกษาพฤติกรรมการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา 
เพื่อควบคุมปริมาณน้ำเหนือหลากให้สอดคล้องกับสภาพน้ำทะเลหนุน
ในช่วงฤดูฝนอย่างมีประสิทธิภาพ  ...”


“...   บึงมักกะสันนี้  ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน  โดยใช้หลักว่า
ผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น  เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้ว
ก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้  เป็นเครื่องกรองธรรมชาติใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 
และธรรมชาติของการเติบโตของพืช  ...”


“...  ในกรุงเทพฯ  ต้องมีพื้นที่หายใจแต่ที่นี่  เราถือเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรก
และโรค  สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอดแต่นี่เหมือนไตฟอกเลือด 
ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักของความคิดอันนี้  ...”


...  อย่างที่บอกว่าเอาน้ำเสียมาใช้ในการทำการเกษตรกรรม 
ทำได้แต่ที่ที่ทำนั้นต้องมีที่สัก  ๕,ooo  ไร่ 
ขอให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ  มาช่วยร่วมกันทำ  ทำได้แน่  ...”


“...  โครงการที่จะทำนี้ไม่ยากนัก  คือว่าก็มาเอาสิ่งที่เป็นพิษออก
พวกโลหะหนักต่างๆ  เอาออก ซึ่งมีวิธีทำต่อจากนั้นก็มาฟอกใส่อากาศ 
บางที่ก็อาจไม่ต้องใส่อากาศแล้วก็มาเฉลี่ยใส่ในบึง 
หรือเอาน้ำไปใส่ในทุ่งหญ้า  ...”  และเพิ่มเติมอีกว่า  
“...  ทางใต้ออสเตรเลียมีโครงการเอาน้ำเสียนี้ไปใส่ในคลอง 
แล้วใส่ท่อไปใกล้ทะเลแล้ว  ทำเป็นสระเป็นบ่อใหญ่มาก 
เป็นพื้นที่ตั้งเป็นร้อยไร่ หลายร้อยไร่ เขาก็ไปทำให้น้ำนั้น
หายสกปรกแล้วก็เทลงทะเล  ...”


“...  การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นในหลักใหญ่ก็คือ  การควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์
ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ  เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป 
ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ 
และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลนก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ
ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร  การอุตสาหกรรม  และการอุปโภคบริโภค 
ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง 
แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้วเมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น  ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อน
สูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งส่งผล
กระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง  ...”


เรื่องการพัฒนาสังคม

“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น
เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น
งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน
จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 4 ธันวาคม 2533


“ผู้ที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดี และเหมาะสมที่สุด

ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทยเพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด
คนไทยมีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่
สมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น 27 กุมภาพันธ์ 2537


“การที่ในประเทศใดมีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกัน
โดยสันติก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน

ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะในประเทศชาติ
เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้นเป็นความทุกข์
ทุกคนต้องการความสุขหากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง
และความที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยยุติธรรม”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำ
กระทรวงเข้าเฝ้าฯ 21 ธันวาคม 2537

“สังคม ใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน
สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบรอบ 36 ปี
ของสโมสรไลออนส์กรุงเทพฯ 31 มีนาคม 2538

“ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษ
หรือความเสื่อมโทรมของ
ทรัพยากรธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่นๆ
ด้วยเหตุนี้
ทุกคนทุกประเทศ ในโลกจึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน
ทั้งในการแก้ไข ลดปัญหา และปรับปรุงสร้าง

เสริมสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมี
ชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อน
มนุษย์”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก 
ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน
ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย 20 พฤศจิกายน 2539


“การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา
การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความ
อดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน
ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทาง
ที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523

“เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดา ที่บุคคลในสังคมนั้นย่อมมีอัชฌาสัยจิตใจ
แตกต่างเหลื่อมล้ำกันเป็นหลายระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานภูมิธรรมของตน
บางคนก็มีความคิดจิตใจสูง มีความประพฤติปฏิบัติดีงาม
เป็นคุณเป็นประโยชน์อยู่แล้วเป็นปกติ แต่บางคนไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้
เพราะยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติดี จึงมักก่อปัญหาให้เกิดแก่สังคม
คนเรานั้น สำคัญอยู่ที่ควรจะได้ปรารภปรารถนาที่จะพัฒนา
ตัวเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ เพื่อให้ชีวิตเป็นสุข และเจริญรุ่งเรือง”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน
เพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทิกสมาคมทั่วประเทศ
ครั้งที่ 16 วันที่ 30 พฤษภาคม 2524


การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
“...ทิ้งป่าไม้นั้นไว้ 4 ปี ตรงนั้น ไม่ต้องทำอะไรเลย
แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้น
เดียว... คือว่าการปลูกนั้น สำหรับอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง...”
พระราชดำรัส วันที่ 4 ธันวาคม 2537


การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา
“...การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา  จะต้องปลูกต้นไม้หลายๆ  ชนิด  
เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนกประสงค์  คือ มีทั้งไม้ผล  ไม้สำหรับก่อสร้าง  
และไม้สำหรับทำฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้  ซึ่งเมื่อตัดไปใช้แล้วก็ปลูก
ทดแทนเพื่อหมุนเวียนทันที..."
พระราชดำรัส วันที่ 26 มกราคม 2550  
ณ โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่สา อำเภอแม่ริน จังหวัดเชียงใหม่


เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

“การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุข
ของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลน
ในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแกผู้ประหยัดเท่านั้น
ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 31 ธันวาคม 2502


“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น

ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมีพอกิน พอใช้ ของประชาชน
ส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด
แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว
จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจชั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 ธันวาคม 2516


“...เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซ
ื้อ
เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมัน สำหรับรถไถ
เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร
เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว
ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน
แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย
แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย...”
พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 9 พฤษภาคม 2529


“...เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้
แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะ

เป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้า
อย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า
จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหาร
แบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป
ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2534


“...ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ
ก็เห็นว่าประเทศไทย เรานี่ก้าวหน้าดี
การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร
อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า
ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า
แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า
จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2536

“...เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า
พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนเห็นว่ามีคนจน คนเดือดร้อน
จำนวนมากพอสมควร แต่ใช้คำว่า พอสมควรนี้ หมายความว่าตามอัตตภาพ...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2539

“...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน
แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง
ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของ
ตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ
จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้
แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก...”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2539


“การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้
อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้
็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540


“คนเราเมื่อมีความสามารถที่ดีเป็นทุนรอนอยู่ ก็จะไม่มีวันอับจน
ย่อมหาทางสร้างตัวสร้างฐานะให้ก้าวหน้าได้เสมอ
ข้อสำคัญในการสร้างตัวฐานะนั้น จะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไปด้วย
ความรอบคอบ ระมัดระวัง และความพอเหมาะพอดี
ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 18 ธันวาคม 2540


“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย

เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด
อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า
พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541


“คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก
ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า
พอมีพอกิน
พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541


“ให้พอเพียงก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย

ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย
แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541


“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด

หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว
มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น
หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า
เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541


“อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือ ระบบพอเพียง
เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย
ว่าจะแปลเป็น S
ELF-SUF-FICIENCY (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง
แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า SELF-SUFFICIENCY 
คือ SELF-SUFFICIENCYนั้น หมายความว่า ผลิตอะไร
มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541


“...เมื่อปี 2517 วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน
พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน
ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี
และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน
บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541


“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ
ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อ

เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้
มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง
ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี
มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541

“พอมีพอกินนี่ได้พูดมาหลายปี สิบกว่าปีแล้ว ให้พอมีพอกิน
แต่ว่าพอมีพอกินนี้ เป็นเพียงเริ่มต้นของเศรษฐกิจ เมื่อปีที่แล้วบอกว่า
ถ้าพอมีพอกิน คือ พอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน
แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน
หรือระหว่างจะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน
มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542


“ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้
ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ เป็นสิ่งที่ทำไม่ไ
ด้
จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกันแลกเปลี่ยนกัน
ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้ คือ ให้สามารถที่จะดำเนินงานได้”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542


“...โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่
ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิ
น กิจการนี้ใหญ่กว่า
แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ
เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน
เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง
แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ 23 ธันวาคม 2542

“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง
คือทำจากรายได้ 200-300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท
คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ
เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด
ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี
ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน
ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า
แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่
และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล 17 มกราคม 2544


“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต 
รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน
เปรียบเสมือนเสาเข็ม
ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง
สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม  
แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จากวารสารชัยพัฒนา


“...ไฟดับถ้ามีความจำเป็น หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่
เรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน
คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ
แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์
นี่เป็นสิ่งทำไม่ได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน
แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้
คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”
พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา


เรื่องการศึกษาและโทรคมนาคม
“...ต้องพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอาชีพ
ไม่ใช่เพียงแต่ปลูกผัก ถั่ว งาให้หลานเฝ้า แต่เป็นเรื่องของความอยู่ดีกินดี
ความรู้การศึกษาที่กล่าวว่า ต้องช่วยให้การศึกษาดีขึ้น
เพราะถ้าการศึกษาไม่ดี คนไม่สามารถทำงาน การศึกษาต้องได้ทุกระดับ
ถ้าพูดถึงระดับสูง หมายความว่า นักวิทยาศาสตร์ขั้นสูง
ถ้าไม่มีการเรียนขั้นประถม อนุบาล ไม่มีทางที่จะให้คนไทยขึ้นไปเรียนขั้นสูง
หรือเรียนขั้นสูงไม่ดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ดี เพราะขั้นสูงนั้นต้องมีรากฐานจากขั้นต่ำ
ถ้าไม่มีก็เรียนขั้นสูงไม่รู้เรื่อง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2546

“...การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาภายหลังสำเร็จจากมหาวิทยาลัย
จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ในการสร้างเสริมผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว
ให้มีปัญญาและความสามารถที่จะปรับตนให้เข้ากับสภาวะแท้จริงของชีวิต
พร้อมทั้งดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขและเจริญมั่นคงได้...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2536


“...ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ
และความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริงซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ

เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยมหิดล วันพฤหัสบดีที่  2 กรกฎาคม 2535


“...การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยคือการศึกษาค้นคว้า
เพื่อสร้างเสริมและสะสมความรู้ ความจัดเจน ในด้านวิชาการอย่างสูง

และด้านการใช้ความคิดวิจารณญาณตามเหตุผลหลักวิชาความถูกต้อง
ผู้มีปัญญาซึ่งได้ผ่านการศึกษาระดับนี้ จัดว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า
ผู้จะเป็นกำลังสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงทุกด้านของประเทศอย่างสำคัญต่อไป
เหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกิดขึ้น ที่จะต้องนำความรู้
ความคิด และความสามารถจัดเจนของตนออกปฏิบัติงาน
เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมและบ้านเมือง...”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยมหิดล วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม 2533


“...การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรก
คือการศึกษาทางแนวลึก อันได้แก่การฝึกฝนค้นคว้าวิชาเฉพาะของแต่ละคน
ให้เชี่ยวชาญชำนาญแตกฉานลึกซึ้ง และพัฒนาก้าวหน้าพร้อมกันนั้น
ในฐานะนักปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เป็นปรกติ
ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาทางแนวกว้างควบคู่กันไปด้วย
การศึกษาตามแนวกว้างนี้ หมายถึง การศึกษาให้รู้ให้ทราบ ถึงวิทยาการสาขาอื่นๆ
ตลอดจน ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสภาวะและวิวัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมในทุกแง่มุม
เพื่อช่วยให้มองเห็น ให้เข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจนถูกถ้วน
และสามารถนำวิชาการด้านของตน ประสานเข้ากับวิชาด้านอื่นๆ
ได้โดยสอดคล้องถูกต้อง และเหมาะสม...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก
่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2533


“...การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด
ความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ
โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้
มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ
ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะให้ศึกษาให้ตลอด
ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน
หรือเพ่งเล็งเฉพาะบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง
ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณา
ศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง
ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจ ตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ
ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังมิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้
หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ
จะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่
ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2524


“...ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆ คนจึงต้องถือว่า ตัวของท่านมีความรับผิดชอบ
ต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง
ถูกต้อง สมบูรณ์โตเต็มกำลังจะประมาทหรือละเลยมิได้
เพราะถ้าปฏิบัติให้ผิดพลาดบกพร่องไปด้วยประการใดๆ
ผลร้ายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมและประเทศชาติได้มากมาย...”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล
วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2524


“...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้
ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใด
ให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน
สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้
และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล
วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2524


“...วัตถุประสงค์ของการตั้งโรงเรียน หรือการให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติ
คือการให้นักเรียนมีความสมบูรณ์ไม่บกพร่องพิการ ทั้งทางร่างกาย
ทั้งทางความคิดจิตใจและคุณธรรม ให้นักเรียนมีวิชาความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ
พร้อมทั้งมีความสามารถที่จะนำความรู้ความคิดไปปฏิบัติ
ใช้งานได้ด้วยตนเองได้จริงด้วย...”

พระบรมราโชวาทพระราชทานคณะอาจารย์ ครู และนักเรียน
โรงเรียนวังไกลกังวล วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2523


“...การศึกษาในระบบ ส่วนใหญ่ ผู้ศึกษาได้รับความรู้ถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์
และจากการศึกษาค้นคว้าเป็นสำคัญแต่มิได้เรียนรู้จากการกระทำหรือ
การพบเห็นด้วยตนเองโดยตรง การศึกษานอกระบบภายหลังที่สำเร็จการศึกษา
หรือการศึกษาในมหาวิทยาลัยชีวิตจึงมีความสำคัญมาก
ในการที่จะสร้างเสริมให้ผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว เกิดความรู้
ความเฉลียวฉลาด สามารถปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
และสามารถดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างมั่นคงเป็นสุข...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่
ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม 2522


“...การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังบรรยายสั่งสอนของครูบาอาจารย์
การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟัง ของแต่ละคน
หมายความว่าดูแล้วฟังแล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่ตน
ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้วและเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตของ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2521


“...การศึกษาในมหาวิทยาลัย กล่าวตามหลัก ควรจะได้แก่
การสร้างเสริมความสามารถและความเจริญงอกงามของ
บุคคลในทางวิชาการส่วนหนึ่ง ในทางความคิดอีกส่วนหนึ่ง
ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้บุคคลมีพละกำลัง
สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานใหญ่ๆ ของส่วนรวมให้สำเร็จได้...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ
มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2521


"...เทคโนโลยี นั้น โดยหลักการ คือ การทำให้สิ่ง ที่มีอยู่ให้เกิด
เป็นสิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เทคโนโลยีที่ดีสมบูรณ์
จึงควรจะ สร้างสิ่งที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และมีความสูญเปล่า
หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยที่สุด..."

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 18 ตุลาคม 2522


เรื่องการแพทย์
“ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้
เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง”

"เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา
แล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า"

"การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่
เดินทางไปหาแพทย์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้าม
หากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง"

"ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและ
ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตาม
ถนนหนทางตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท”

“จึงใคร่ขอร้องให้ทุกๆ คนตั้งใจ และพยายามปฏิบัติหน้าที่
ให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ อย่าปล่อยให้กำลังของชาติต้องเสื่อมถอยลง
เพราะประชาชนเสียสุขภาพอนามัย”

“การเข้าถึงประชาชน ท่านจะต้องช่วยบำบัดบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึง
ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ใดและกาลเวลาใด ขอให้เตรียมใจให้พร้อมเพื่อปฏิบัติหน้าที่นี้
และจงเชื่อมั่นว่าการทำประโยชน์และความเจริญแก่ส่วนรวมนั้น
ย่อมเป็นประโยชน์และความเจริญของตนด้วยเสมอ...”

เรื่องดนตรี
ในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภายหลังที่สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
ประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์
หมายเลข 23 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2507
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาเยอรมัน
(ต่อมา ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ได้แปลและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย) กล่าวถึงความสำคัญของดนตรีว่า
".......ดนตรีทุกชนิดเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง มนุษย์เกือบทั้งหมดชอบและรู้จักดนตรี
ตั้งแต่เยาว์วัยคนเริ่มรู้จักดนตรีบ้างแล้ว ความรอบรู้ทางดนตรีอย่างกว้างขวางย่อมขึ้นกับเชาวน์
และสามารถในการแสดงของแต่ละคน อาศัยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในระหว่างศิลปะนานาชนิด
ดนตรีเป็นศิลปะที่แพร่หลายกว่าศิลปะอื่นๆ และมีความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชนทุกประเทศด้วย.........."

...ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊สหรือไม่แจ๊สก็ตาม 
ดนตรีล้วนอยู่ในตัวคนทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา
สำหรับข้าพเจ้า..ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม
และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท
เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสม
ตามแต่โอกาส และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป...


พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เมื่อคราวที่เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาในปี 2503 พระองค์ได้พระราชทาน
ให้สัมภาษณ์แก่วิทยุเสียงอเมริกาพระบรมราโชวาทพระราชทาน
เนื่องในงานสังคีตมงคล ครั้งที่ 2 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร
วันพฤหัสบดี ที่ 31 กรกฎาคม 2512 ความตอนหนึ่งว่า
"...ดนตรีนี้มีไว้สำหรับให้บันเทิง แล้วก็ให้จิตใจสบาย ดนตรีนี่คือเสียง
แต่สิ่งประกอบยังมีว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร นั่นน่ะ ยังเป็นคุณภาพของเสียง
...พวกเราเป็นนักดนตรี นักเพลง นักเกี่ยวข้องกับเรื่องศิลปะในด้านการแสดง
การแสดงโดยเฉพาะดนตรี พวกเรานี่มีความสำคัญมาก ไม่ใช่น้อยสำหรับส่วนรวม
เพราะว่าดนตรีนั้น เป็นสิ่งหนึ่งที่จะแสดงออก ซึ่งความรู้สึกของชนหมู่หนึ่ง
ในที่นี้ชนคนไทยก็คือ ประชาชนคนไทยทั้งหลาย จะแสดงความรู้สึกออกมา
หรือจะรับความรู้สึกที่แสดงออกมา ก็ด้วยดนตรี พวกเราที่เป็นนักเพลงนักดนตรี จึงมีความสำคัญยิ่ง..."

?..มาถึงเมื่อเดือนที่แล้ว มีนักดนตรีมาจากอเมริกา เป็นดนตรีที่เขาเรียกว่า
แบบนิวออร์ลีน เป็นต้นกำเนิดของเพลงแจ๊สเข้ามา และเล่นกับเรา เล่นไป
เราก็ต้องเล่นสำเนียงรำวงหน่อย เราถามเขารู้ไหมว่าเล่นรำวง เขาบอกเขารู้
เขาบอกว่าหูเขาดี เขารู้ว่าเป็นเพลงรำวง เขาไม่รู้จักรำวง แต่เขาบอกว่า
เมื่อเขาไปญี่ปุ่น เขาก็ไปเล่นเพลงแจ๊สแบบญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นเขามีนักเล่นดนตรีที่เก่งสำหรับแจ๊ส
แต่ว่าเราก็อดไม่ได้ที่จะฟังเขา เขาเล่นสักเดี๋ยว ค่อนข้างจะญี่ปุ่น ก็เลยบอกว่า
นี่ล่ะไทย คนไทย เล่นเพลงแจ๊ส ก็เป็นเพลงแบบไทย แบบบันไดเสียงไทย เขาก็สนใจ
ตอนนี้เขากลับไป กลับบ้านแล้ว เข้าใจว่าเขาจะไปศึกษาแจ๊สแบบรำวง แจ๊สแบบไทย
คราวหน้าเขามาเขาบอกเขาจะเล่น เล่นเพลงแจ๊สแบบนิวออร์ลีนบางกอก
ถ้าเขาเล่นอย่างนั้นแล้วเราก็ภูมิใจได้ว่า ทำไมเขาฟังเพลงไทยเป็น เขาเก่ง
พวกนี้หูเขาดี เขาเล่นด้วยหู เขาไม่ได้เล่นด้วยตา เขาไม่ได้อ่านโน้ต เขาเล่นด้วยหู
เวลาเราไปเล่นกับเขาเราก็ต้องเล่นด้วยหู ไม่ได้เล่นด้วยตา ก็ดูเขาสนุกดี
นี่เรามาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวข้องกับศิลปะ ซึ่งแจ๊สนี่ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง
บางคนเขาไม่เห็นว่าแจ๊ส โดยเฉพาะแจ๊สแบบนิวออร์ลีน ไม่เป็นศิลปะ
แต่เราก็เรียกได้ว่าเป็นศิลปะ เพราะว่าดนตรีนี่เป็นประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง
ชาติบ้านเมืองใดมีดนตรี มีสำเนียงดนตรี เพลงดนตรี เครื่องดนตรีที่เป็นของตนเอง นั่นล่ะน่าชื่นใจ..?
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ในเวลาประมาณ 16.20 น. วันที่ 4 ธ.ค. 2547


เรื่องกีฬา
"...การกีฬานั้น ย่อมเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่ว ไปแล้วว่า
เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้ แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง
รู้จักแพ้ และชนะไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีการให้ อภัยซึ่งกันและกัน
สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่ามี น้ำใจเป็นนักกีฬา..."
พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี
ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ วันที่ 1 ธันวาคม 2489


"...ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ ออกแรงใช้งาน
มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรง ให้พอเหมาะ พอดีโดยสม่ำเสมอ
ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้น ผู้ที่ปรกติทำการงานโดย
ไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลัง แต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกาย
ให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอ ทุกวัน..."
พระราชดำรัสในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สัมมนา
เรื่องการออกกำลังเพื่อสุขภาพ วันที่ 17 ธันวาคม 2523


"...การกีฬานั้นมีหลักสำคัญอยู่ที่ว่าจะต้อง ฝึกฝนตนเองให้แข็งแรง
ให้มีความสามารถใน กีฬาของตน เพื่อจะพร้อมที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการ
แข่งขันและได้ชัยชนะมา ถึงเวลาเข้าแข่ง ข้นก็จะต้องตั้งสติให้ดี
เพื่อให้ปฏิบัติได้เต็มที่ตามที่ได้ฝึกฝนมา..."
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักกีฬาที่จะเข้าร่วม
การแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ 5 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2512


"...การกีฬานั้น จะต้องมีการฝึกซ้อมให้ดี ทั้งในทางวิชาการ คือเทคนิคและทั้งในทางกาย
คือ ความแข็งแรงสมบูรณ์ ถ้าขาดสองอย่างนี้ จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภาระของตัวให้ได้
ชัยชนะ จึงต้องเตรียมตัว เตรียมกายของตนให้ดีเพื่อที่จะได้ ไม่ต้องปราชัย..."
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอล
ส.ส.มหากุศล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 26 กันยายน 2512


"...นักกีฬาที่ดีนอกจากต้องมีการแสดงทั้ง ในทางกายในทางสมอง คือ
ใช้ความคิด และวิทยาการแล้ว ก็ต้องมีจิตใจเป็นนักกีฬา
อันนี้จะ ทำให้มีชัยเหมือนกัน ถ้าแสดงตนเป็นคน ที่มีจิตใจเป็นนักกีฬา
จะทำให้ใจเย็นขึ้น เกิดเรื่องอะไรก็สามารถที่จะแก้ปัญหาได้..."
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอล
ส.ส.มหากุศล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 26 กันยายน 2512

"...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรง เป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง
เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะอำนวยผล ให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์
และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว
ย่อมมีกำลังทำประโยชน์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่..."
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล
ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 22 ตุลาคม 2522