ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนา

โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
         ความเป็นมา
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ว่า
         “… ปัญหาเรื่องภัยแล้งนี้จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ และหมู่นี้ก็พูดกันอย่างเสียขวัญเสียว่าอีกหน่อยต้องปันส่วนน้ำหรือต้องตัดน้ำประปา อันนี้สำหรับกรุงเทพฯ ดังนั้น ต้องหาแนวทางแก้ไขซึ่งปัญหานี้ต้องวางแผนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากว่าได้ปฏิบัติในวันนี้ เราก็ไม่ต้องพูดถึงการขาดแคลนน้ำโครงการโดยเฉพาะนั้นก็มี และโครงการนั้นได้ยืนยันมาเมื่อเดือนกว่าแล้วที่นราธิวาส ได้วางโครงการและแม้เป็นโครงการที่ไม่ได้แก้ปีนี้ หรือปีหน้า แต่ถ้าทำอย่างไรดีประมาณ 5 หรือ 6 ปี ปัญหาน้ำขาดแคลนในกรุงเทพฯ จะหมดไปโดยสิ้นเชิง อาจจะนึกว่า 5-6 ปี นั้นนาน ความจริงไม่นานและระหว่างนี้เราก็พยายามแก้ไขเฉพาะหน้าไปเรื่อย แต่ถ้ามีความหวังว่า 5-6 ปี ปัญหานี้คงหมดไปก็คงมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าชีวิตต่อไป
         ที่ว่า 5-6 ปีนี้ ความจริงได้เริ่มโครงการนี้มากกว่า 5-6 ปี โครงการที่คิดจะทำนี้บอกได้ ไม่กล้าพูดมาหลายปีแล้วเพราะเดี๋ยวจะมีการคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญจากผู้ที่ต่อต้านการทำโครงการ แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย แต่ถ้าดำเนินการไปเดี๋ยวนี้อีก 5-6 ปี ข้างหน้าเราก็สบาย แต่ถ้าไม่ทำในอีก 5-6 ปีข้างหน้าราคาค่าสร้างค่าดำเนินการก็จะขึ้นไป 2 เท่า 3 เท่า ลงท้ายก็จะต้องประวิงต่อไป และเมื่อประวิงต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่จะกลายเป็นทะเลทราย แล้วเราก็จะอพยพไปที่ไหนไม่ได้ โครงการนี้คือสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือแม่น้ำป่าสัก อีกแห่งคือ แม่น้ำนครนายก สองแห่งรวมกันจะเก็บกักน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงที่ราบลุ่มของประเทศไทยนี้ สำหรับการใช้น้ำนั้นต้องทราบว่าแต่ละคนใช้อยู่อย่างสบายพอสมควร โดยเฉลี่ยวันหนึ่งใช้คนละ 200 ลิตร ถ้าคำนวณดูว่าวันละ 200 ลิตรนี้ 5 คน ก็ใช้ 1,000 ลิตร คือหนึ่งลูกบาศก์เมตรต่อวัน ถ้าปีหนึ่งคูณ 365 ก็หมายความว่า 5 คนใช้ในหนึ่งปี 365 ลูกบาศก์เมตร ในกรุงเทพฯ และในบริเวณใกล้เคียงนี้เรานับเอาคร่าวๆ ว่ามี 10 ล้านคน 10 ล้านคนก็คูณเข้าไปก็เป็น 730 ล้านลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นเราเก็บกัก 730 ล้านลูกบาศก์เมตรในเขื่อนเราก็สามารถที่จะบริการคนในละแวกนี้ คนในภาคกลางใกล้กรุงเทพฯ นี้ได้ตลอดไป แล้วก็ไม่มีความขาดแคลน เขื่อนป่าสักที่ตอนแรกวางแผนให้จุได้ 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่แก้ไปแก้มาก็เหลือ 750 ล้านกว่าๆ ตามตัวเลขที่ให้ไว้นี้แม้เขื่อนป่าสักเขื่อนเดียวก็พอสำหรับการบริโภคแน่นอน ไม่แห้ง ถ้าเติมอีกโครงการที่นครนายกจะได้อีก 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เกินพอ... ”
         เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และตำบลพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี พื้นที่ของโครงการมีทั้งสิ้น 105,300 ไร่ ซึ่งมีรายละเอียดังนี้
         จังหวัดลพบุรี มีทั้งสิ้น 96,658 ไร่ ครอบคลุม 3 อำเภอได้แก่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอชัยบาดาล
         จัหวัดสระบุรี มีทั้งสิ้น 8,642 ไร่ คือ อำเภอวังม่วง 
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นเขื่อนดินชนิดมีแกนดินเหนียวยาว 4,860 เมตร สูง 31.50 เมตร ระดับน้ำกักเก็บสูงสุด +43.00 ม.รทก. เก็บน้ำได้ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร
         งบประมาณการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 19,230.7900 ล้านบาท

         ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถแยกออกได้ดังนี้
         ทางด้านประชากร ต้องมีประชากรจาก 2 จังหวัดรวม 4 อำเภอ คือ จังหวัดลพบุรีได้แก่ อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี ได้แก่ อำเภอม่วง
         
ทางด้านสิ่งปลูกสร้างสารธารณะ มีถนนถูกน้ำท่วม 2 สาย คือ อำเภอชัยบาดาล-อำเภอสนธิ และอำเภอชัยบาดาล – อำเภอด่านขุนทด ส่วนเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างสถานีแก่งเสือเต้น-สถานีสุรนารายณ์ และ สายแก่งคอย-บัวใหญ่ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน วัด ส่วนราชการ และธุรกิจเอกชน
         ทางด้านสิ่งแวดล้อม มีแหล่งโบราณคดี 33 แห่ง และวัฒนธรรมชุมชนไทยเบิ้ง รวมทั้งพื้นที่ป่าไม้แต่เป็นไม้ที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ
         จากผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หน่วยงานราชการและผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันให้ความร่วมมือให้ความช่วยเหลือราษฏรในเขต 2 จังหวัด ทั้งทางด้านสาธารณูปโภค ด้านไฟฟ้า ถนน น้ำประปา ตลอดจนได้สร้างวัด โรงเรียน และสถานีอนามัย สถานีตำรวจ ทดแทนของเดิมให้กับพื้นที่ชุมชนใหม่ พร้อมทั้งจัดการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ ทั้งการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น สอนการแปรรูปอาหารและการถนอมอาหาร การทำดอกไม้จันทน์และดอกไม้ประดิษฐ์จากเปลือกข้าวโพด และการทอผ้าด้วยกี่กระตุก
         ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

         1. เป็นแหล่งสำหรับอุปโภค บริโภคของประชาชนในเขตลพบุรีและสระบุรี
         2. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในเขตลพบุรีและสระบุรี
         3. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ชลประทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ในเขตลพบุรีและสระบุรี
         4. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับพื้นที่โครงการชลประทานเดิม 
         5. เป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่และแหล่งเพาะพันธ์ปลา
         6. ช่วยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำป่าสักตอนล่าง และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย
         7. ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีขยายตัวมากขึ้น
         8. ช่วยป้องกันอุทกภัยในเขตจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรีรวมทั้งในพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

         9. เป็นแหล่งน้ำเสริมสำหรับอุปโภคบริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร
         10. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
         เป็นที่น่าปลาบปลื้มที่พระองค์ทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวจังหวัดลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียงถึงประโยชน์ที่ราษฎรของพระองค์จะได้รับจากโครงการนี้ ณ พื้นที่ซึ่งเคยปรากฏความแห้งแล้ง สลับภาวะน้ำท่วม อันส่งผลให้ประชาชนต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบากทุกข์ยาก บัดนี้ ได้มีเขื่อนดินขนาดใหญ่ซึ่งมีความสูงกว่า 31 ม. และยาวเกือบ 5,000 ม. มาตั้งเป็นแนวกั้นน้ำอยู่ในแม่น้ำป่าสัก พร้อมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความจุน้ำได้สูงสุดถึง 960 ล้าน ลบ.ม. เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่พื้นที่ที่เคยประสบความแห้งแล้ง โดยมีอาคารพิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นสถานที่จัดแสดงสภาพชีวิตผู้คนในอดีตที่เคยใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักแห่งนี้ สำหรับให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาร่องรอยแห่งอารยธรรม ไว้เตือนจำและเตือนใจคนในรุ่นปัจจุบัน และในอนาคตมิให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป 


แหล่งที่มา
      โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์. (ม.ป.ป.). โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์. ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60
จาก https://sites.google.com/site/kheuxnpasakchlsiththi/home/prawati