ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนา

โครงการฝายชะลอน้ำ
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงเสนออุปกรณ์อันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่ได้ผลดียิ่งกล่าวคือ ปัญหาสำคัญที่เป็นตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น น้ำ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้โดยแท้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้ใช้ฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า Check Dam หรืออาจเรียกขานกันว่าฝายชะลอความชุ่มชื้นก็ได้เช่นกัน
         Check Dam คือสิ่งที่ก่อสร้างขวางกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ทำให้พืชสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปในบริเวณลุ่มน้ำตอนล่าง นับเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำรัสว่า "การปลูกป่าทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายนั้นจะต้องสร้างฝายเล็กเพื่อหนุนน้ำส่งไปตามเหมืองไปใช้ในการพื้นที่เพาะปลูกทั้งสองด้าน ซึ่งจะให้น้ำค่อยๆ แผ่ขยายออกไปทำความชุ่มชื้นในบริเวณนั้นด้วย"
         ในส่วนของรูปแบบและลักษณะ Check Dam นั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ว่า "...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆ เป็นระยะๆ เพื่อให้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็ว และพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ..."
         ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัสคือ
         Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้น รักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้น ประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง

         การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า "...สำหรับ Check Dam ชนิดป้องกันไม่ให้ทรายไหลลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึกเพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไรไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป..."
         
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นขึ้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือให้ดำเนินการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูงที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือนการเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงและประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงและโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้

         วัตถุประสงค์
         เพื่อรักษาความชุ่มชืนของผืนป่าและกักเก็บน้ำ ทางโครงการฯ ได้จัดทำฝายชะลอน้ำ ในต้นน้ำลำธาร 2 สาย และเพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง สำหรับ โครงการฝายชะลอน้ำที่ทางเราได้จัดทำขึ้นมานั้นมีวัตถุประสงค์และวิธีการก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว ดังนี้
         1. ฝายที่เราสร้างขึ้นมา เป็นฝายแบบไม่ถาวรให้วัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก สำหรับชะลอน้ำในหน้าแล้งเท่านั้น ไม่ได้สร้างเพื่อกักเก็บน้ำ การไหลของน้ำ ที่หน้าฝาย ยังมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะซึมผ่านฝายหรือน้ำล้นข้ามฝาย
         2. ระดับความสูงของตัวฝาย ไม่สูงมากนัก ระดับความสูงประมาณ 40 % ของความสูงของระดับน้ำสูงสุดในลำคลองหรือลำห้วย สายน้ำยังสามารถไหลล้นผ่านฝายได้ ตลอดเวลา เพื่อยังรักษาระบบนิเวศน์ หน้าฝายไว้
         3. ตัวฝายควรมีระดับความลาดชัน ประมาณ 20 – 45 องศา ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ไม่ควรสร้างฝายที่มีหน้าตัด 90 องศา
         4. การก่อสร้างจะสร้างเป็นช่วงๆ แบบ ขั้นบันได เป็นช่วงๆ ระยะขึ้นอยุ่กับพื้นที่ ประมาณ 50 – 200 เมตร 4 งบประมาณการก่อสร้างเราแทบจะไม่มี เพียงช่วยกันขนหิน ที่ระเกะระกะอยู่ตามลำคลองมาจัดเรียงใหม่เท่านั้นเป็นการออกกำลังกายไปในตัว หากไม่มีหินเราก็จะใช้กระสอบทราย
         5. หากหน้าน้ำมีน้ำมา ฝายนี้ก็จะพังทลายลง (ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำป่าลงได้) หินที่ก่อเรียงตัวไว้ก็จะพัง และไหลลงมาสู่ตัวฝายด้านล่างต่อไป
         6. พอหมดหน้าน้ำป่า น้ำเกือบจะใกล้แห้ง เราก็หาเวลามาออกกำลังกาย มายกก้อนหินกลับไปเรียง เป็นฝายชะลอน้ำ ตามเดิม (ส่วนใหญ่แล้ว จะยังหลงเหลือ โครงสร้างเดิมอยู่บ้าง) ใช้เวลาก่อสร้าง ประมาณ 1-2 ชม. ต่อฝายเท่านั้น
         7. ควรคำนึงถึงสัตว์น้ำที่อาศัยในลำคลองด้วยว่า สามารถเดินทางไปยังต้นน้ำได้หรือไม่ เพราะเราตั้งใจว่า “ในน้ำต้องมีปลา ในป่าต้องมีน้ำ
         ประเภทของฝายชะลอน้ำหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น แบ่งได้ 2 ประเภท
         1. ฝายต้นน้ำลำธาร หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น เป็นฝายที่กักเก็บน้ำให้ไหลช้าลง และสามารถซึมลงใต้ผิวดิน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แก่พื้นบริเวณนั้น

         2. ฝายดักตะกอนดิน ทราย เป็นฝายที่ดักตะกอนดินและทรายไม่ให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง

         รูปแบบของฝายสามารถแบ่งออกได้ 3 แบบ ได้แก่

         1. แบบท้องถิ่นเบื้องต้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฝายแม้ว" เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุมีอยู่ตามธรรมชาติที่ เช่น กิ่งไม้ ท่อนไม้ ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วย หรือร่องน้ำ โดยจะสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่รอบๆ ฝายได้
         2. แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นการก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลางและตอนล่างของลำห้วย หรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้บางส่วน 
         3. แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร ส่วนมากจะดำเนินการในบริเวณตอนปลายของลำห้วยหรือร่องน้ำ ทำให้สามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างขึ้นอยู่กับขนาดของลำห้วย ซึ่งควรมีความกว้างไม่เกิน 4 เมตร

         ประโยชน์ของฝายชะลอน้ำ
         1. ฝายช่วยชะลอน้ำ ชะลอการไหลของน้ำ จากเดิมที่ฤดูน้ำหลากน้ำจะหลากลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว
         2. ชะลอความแรงของน้ำหลาก ช่วยลดการกัดเซาะของตลิ่งลำน้ำ
         3. ช่วยดักตะกอนแม่น้ำ กิ่งไม้ เศษไม้ ดิน โคลน ทราย ทำให้ลำน้ำหลังฝายตื้นเขินช้าลง เก็บกักน้ำ ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ในบริเวณฝายและพื้นที่เหนือฝาย
         4. ใช้ทำการเกษตรบริเวณใกล้เคียงได้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำสวน
         5. เป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำ
         6. เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน ในพื้นที่ฝาย เช่น ปลา สาหร่ายน้ำจืด (เตา)
         7. สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เช่น เก็บสาหร่ายน้ำจืด (เตา) ไปขาย
         8. เก็บความชุ่มชื้น เพิ่มปริมาณ น้ำใต้ดิน เป็นประโยชน์ ในการทำประปาหมู่บ้าน
         9. ใช้สัญจรขนส่ง สินค้าทางการเกษตร ข้ามลำน้ำ ร่นระยะทางการขนส่งได้
         10. เป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน หย่อนใจ ของชาวบ้าน เช่น เด็กเล่นน้ำคลายร้อน สถานที่ออก กำลังกาย
         11. เป็นสถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ เช่น งานประเพณีลอยกระทง การแข่งเรือประเพณี


แหล่งที่มา
      ห้องสมุดมั่นพัฒนา. (2559). โครงการพระราชดำริ ฝายชะลอน้ำ. ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60

      จาก http://www.prd.go.th/ewt_news.php?nid=151794&filename=prd