ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนา

โครงการหญ้าแฝก
         “....ให้ใช้หญ้าแฝกในการพัฒนา ปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม...”

         พระราชดำริ
         เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงครองราชย์ 60 ปี ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ระหว่าง ปี 2548-2550 เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชนปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม กว้างขวางและต่อเนื่อง โดยการรวมใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เข้าร่วมโครงการปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การสนับสนุนของ 11 หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เป็นประธานในพิธี กรอบแห่งความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ คือ ทั้ง 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้ตกลงให้มีความร่วมมือกันปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2549 เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550 มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการระหว่างปี 2548-2550 โดยเริ่มดำเนินการดีเดย์ตั้งแต่วันพืชมงคล คือวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2550 โดยมี เป้าหมายที่จะปลูกหญ้าแฝก จำนวนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านกล้า และจนเกิดผลสำเร็จในการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงและรักษาหน้าดินจำนวนไม่ต่ำกว่า 800,000 จุด ทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝก และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่ลาดชันรอบแหล่งน้ำ บ่อน้ำ สองข้างทางลำเลียง และถนน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการบำรุงดูแลรักษาหญ้าแฝกที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง มีการติดตามและปลูกซ่อมแซมให้ครบถ้วน ซึ่งบันทึกข้อตกลงได้มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลง คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 จนถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2550

         ลักษณะของหญ้าแฝก
         หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่
         
1. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ
         
2. กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น 
หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะ แคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกันแน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีช่อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน
         ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก
         การที่หญ้าแฝกถูกนำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องมาจากมีลักษณะเด่นหลายประการ ดังนี้

         1. มีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง
         2. มีการแตกหน่อและใบใหม่ ไม่ต้องดูแลมาก
         3. หญ้าแฝกมีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี
         4. ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ทำให้ควบคุมการแพร่ขยายได้ 
         5. มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย
         6. ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ
         7. บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์
         8. ปรับตัวกับสภาพต่างๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป 

         9. ส่วนที่เจริญต่ำกว่าผิวดิน ช่วยให้อยู่รอดได้ดีในสภาพต่างๆ
         การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่การเกษตร
         สำหรับการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เกษตรกรรมมีจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วย
         1. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชัน ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับขวางความลาดเทในต้นฤดูฝน โดยการทำแนวร่องปลูกตามแนวระดับ ใช้ระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือยและระยะ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ระยะห่างแถวตามแนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร หญ้าแฝกจะเจริญเติบโตแตกกอชิดกันภายใน 4-6 เดือน
         2. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำและกระจายน้ำ นำกล้าหญ้าแฝกในถุงพลาสติกที่มีการแตกกอและแข็งแรงดีแล้วไปปลูกในร่องน้ำ โดยขุดหลุมปลูกขวางร่องน้ำ เป็นแนวตรง หรือแนวหัวลูกศรชี้ย้อนไปทิศทางน้ำไหลอาจใช้กระสอบทรายหรือก้อนหิน ช่วยทำคันเสริมฐานให้มั่นคงตามแนวปลูกหญ้าแฝก ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง และระหว่างแนวปลูกหญ้าแฝกไม่เกิน 2 เมตร ตามแนวตั้งหลังจากเกิดคันดินกั้นน้ำควรปลูกหญ้าแฝกต่อจากแนวคันดินกั้นน้ำออกไปทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก
         3. การปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในสวนผลไม้ ควรปลูกหญ้าแฝกในสวนผลไม้ระยะที่ไม้ผลยังไม่โต หรือปลูกก่อนที่จะลง ไม้ผล โดยปลูกแถวหญ้าแฝกขนานไปกับแถวของไม้ผลที่ระยะกึ่งกลางของแถวไม้ผล หรือปลูกเป็นรูปครึ่งวงกลมให้ห่างจากโคนต้นไม้ผล 2.5 เมตร เพื่อไม้ผลเจริญเติบโตขึ้นมาคลุมพื้นที่ หญ้าแฝกจะตายไปกลายเป็นอินทรียวัตถุในดินต่อไป
         4. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับในพื้นที่ดอนที่ปลูกพืชไร่ โดยการขุดร่องปลูกตามแนวระดับ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง ควรใช้ปุ๋ยหมักรองพื้นก่อนปลูกหญ้าแฝก หรือปลูก หญ้าแฝกเป็นแนวระหว่างแถวปลูกพืชไร่ และควรปลูกในสภาพดินที่มีความชุ่มชื้นในช่วงต้นฤดูฝน
         5. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่ม ในสภาพพื้นที่ราบหรือพื้นที่ลุ่มที่มีการปรับสภาพเป็นแปลงยกร่องเพื่อปลูกพืชนั้น สามารถปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวรอบขอบเขตพื้นที่ หรือปลูกที่ขอบแปลงยกร่องหญ้าแฝกจะช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย และรักษาความชื้นในดินเอาไว้ 
         6. การปลูกรอบขอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน ควรปลูกตามแนวที่ระดับน้ำสูงสุดท่วมถึง 1 แนว และปลูกเพิ่มขึ้นอีก 1-2 แนวเหนือแนวแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับความลึกของขอบสระ ระยะห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร สำหรับกล้ารากเปลือย และ 10 เซนติเมตร สำหรับกล้าถุง โดยขุดหลุมปลูกต่อเนื่องกันไป ในระยะแรกควรดูแลปลูกซ่อมแซมให้แถวหญ้าแฝกเจริญเติบโตหนาแน่นเมื่อน้ำไหลบ่ามาลงสระตะกอนดินที่ถูกพัดพามากับน้ำ จะติดค้างอยู่กับแถวหญ้าแฝก ส่วนน้ำจะค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่สระและระบบรากของหญ้าแฝกยังช่วยยึดติดดินรอบๆ ขอบสระไม่ให้เกิดการพังทลาย

         รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก
         เพื่อให้การดำเนินการปลูกหญ้าแฝกตามโครงการนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน จึงได้มีการกำหนดรูปแบบการปลูกที่สามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย
         1. การปลูกในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชันของพื้นที่ถ้าใช้กล้าแบบรากเปลือยจะปลูกระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ถ้าเป็นกล้าถุงพลาสติก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร โดยปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนวระดับ ให้มีระยะห่างระหว่างแถวตาม แนวดิ่งไม่เกิน 2 เมตร ความยาวของแถวหญ้าแฝกขึ้นกับสภาพพื้นที่ และพื้นที่ว่างระหว่างแถวหญ้าแฝกจะเป็นพื้นที่ปลูกพืชหลัก
         2. สระน้ำปลูก 2 แถว
                    - แถวที่ 1 ปลูกห่างขอบบ่อ 50 เซนติเมตร จนรอบบ่อ
                    - แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับทางน้ำเข้า จนรอบบ่อ
         3. อ่างเก็บน้ำปลูก 3 แถว
                    - แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับทางน้ำล้นจนรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
                    - แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่างยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

                    - แถวที่ 3 ปลูกที่ระดับต่ำกว่า แถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร จนรอบอ่างยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ
         4. ปลูกริมคลองส่งน้ำ 1 แถว ห่างขอบคลองส่ง 30 เซนติเมตร
         5. ปลูกบนร่องสวน 1 แถว ห่างขอบแปลง 30 เซนติเมตร
         6. ปลูกอยู่บนไหล่ถนน 1 แถว สำหรับถนนหรือทางลำเลียง
         7. ปลูกครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้
                    - ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 3 เมตร
                    - ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร
                    - ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 9 เมตร
         8. ปลูกวงกลมล้อมต้นไม้
                    - ต้นไม้ขนาดเล็ก รัศมีขนาด 1 เมตร เป็นระยะทาง 6 เมตร
                    - ต้นไม้ขนาดกลาง รัศมีขนาด 2 เมตร เป็นระยะทาง 12 เมตร
                    - ต้นไม้ขนาดใหญ่ รัศมีขนาด 3 เมตร เป็นระยะทาง 18 เมตร
         การปลูกหญ้าแฝกทุกครั้งจะต้องปลูกให้ต้นชิดติดกันเป็นแถว ไม่ว่าจะเป็นกรณีแถวตรงหรือแถวโค้งรอบต้นไม้ก็ตาม ถ้าใช้กล้าถุงมีระยะปลูกระหว่างต้น 10 เซนติเมตร และกล้ารากเปลือยระยะปลูก 5 เซนติเมตร
         วัตถุประสงค์การปลูกหญ้าแฝกมีดังนี้
                    - เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
                    - เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน
                    - เพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม
         ชนิดพันธุ์หญ้าแฝก
         หญ้าแฝกที่นิยมปลูกกันมากในประเทศมีหลายพันธุ์ แต่ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงที่พบตามหน่วยจัดการต้นน้ำมี 6 สายพันธุ์ ได้แก่
                    - พันธุ์แม่ลาน้อย
                    - พันธุ์ศรีลังกา
                    - พันธุ์อินเดีย
                    - พันธุ์แม่ฮ่องสอน
                    - พันธุ์เชียงใหม่
                    - พันธุ์สุราษฎร์ธานี
                    - การขยายพันธุ์หญ้าแฝกที่นิยมกันมาก ง่ายและรวมเร็วได้แก่การแยกหน่อแล้วนำไปชำในแปลงเพาะหรือในถุงชำ ซึ่งมีวิธีการดังนี้
         1. นำหญ้าแฝกที่เป็นกอมาตัดใบออกให้เหลือความยาวของต้นประมาณ 20 เซนติ เมตร และความยาวของรากประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วแยกออกเป็นต้นๆ คัดเลือกต้นที่สมบูรณ์มีรากติดนำลงปลูกในถุงชำขนาด 5x8 นิ้วที่มีส่วนผสมของดินร่วนปนทรายและขี้เถ้าแกลบ จากนั้นนำถุงชำมาวางเรียงในที่แจ้งให้เป็นแถว แถวละประมาณ 10 ถุง ระหว่างแถวห่างกัน 1เมตร รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ
         2. การเพาะชำในแปลงเพาะแบบยกร่อง โดยการนำหญ้าแฝกที่เตรียมไว้ในข้อที่ 1 มาปลูกในแปลงขยายพันธุ์ที่เตรียมดินโดยการทำเป็นแปลงยกร่องกว้างขนาด 1-1.5 เมตร ความห่างระหว่างแปลงประมาณ 1 เมตร ความยาวของแปลงแล้วแต่ความเหมาะสม โดยนำหญ้าแฝกมาปลูกห่างกันระหว่างต้น 20 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกหญ้าแฝกได้ประมาณ 3,200 กอ รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หญ้าแฝกจะเจริญเติบอย่างรวดเร็ว และสามารถแตกหน่อได้ประมาณ 40-50 เท่าในระยะเวลา 4-5 เดือน
         การปลูกหญ้าแฝก
         หญ้าแฝกสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยเฉเพาะภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร และมีปัญหาเกี่ยวกับการพังทลายของหน้าดิน (Soil-erosion) การปลูกหญ้าแฝกแบ่งตามสภาพพื้นที่ได้ 3 ประเภท ได้แก่
                    - ปลูกในพื้นที่ป่าที่ล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน
                    - ปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม
                    - ปลูกในพื้นที่อื่นๆ ที่มีล่อแหลมต่อการกัดชะการพังทลายของดิน
         การบำรุงดูแลรักษา
         1. ระยะเวลาในการปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
         2. การใส่ปุ๋ยจะช่วยทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น โดยปกติจะใสปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ใช้ปุ๋ยไดแอมโมเนี่ยมฟอสเฟต (DAP) และปุ๋ยสูตร 15:15:15: ในอัตราครึ่งช้อนชา/ต้น
         3. การตัดแต่งต้นหญ้าแฝก ควรมีการตัดแต่งใบอย่างสม่ำเสมอทุก 3-4 เดือน เพื่อป้องกันมิให้หญ้าแฝกออกดอก ช่วยให้หญ้าแฝกแตกหน่อเพิ่มขึ้น และยังช่วยควบคุมไม่ให้หญ้าแฝกสูงเกินไป ทำให้หญ้าแฝกชิดติดกันเป็นกำแพงแน่นและ ทำหน้าที่กรองตะกอนดินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
         4. การดายวัชพืชในระยะแรกที่ปลูก ควรมีการดายวัชพืชช่วย จะทำให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตได้ดีและแตกหน่อเร็วขึ้น
         ประโยชน์ของหญ้าแฝก
         หญ้าแฝกเป็นพืชมหัศจรรย์ ทุกส่วนของลำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่
                  ต้นและใบ
                  - ช่วยกรองเศษพืชและตะกอนดิน
                  - ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา
                  - ใช้ทำเชือก หมวก ตะกร้า ฯลฯ
                  - ใช้ทำปุ๋ยหมัก
                  ราก
                  - ดูดซับน้ำและช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน
                  - ดูดซับแร่ธาตุและอาหาร
                  - ดูดซับสารพิษ
                  - ช่วยปรับปรุงสภาพดินทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น
                  - ใช้ทำเครื่องสมุนไพรและเครื่องประทินผิว
                  - ใช้กลั่นทำน้ำหอม
                  - ใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช


แหล่งที่มา
      โครงการหญ้าแฝก. (ม.ป.ป.). ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60

      จาก https://sites.google.com/site/020thekingthailand56/khorngkar-phra-rachdari/khorngkar-hya-faek