ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนา

โครงการชั่งหัวมัน
         เมื่อทราบชื่อโครงการตามพระราชดำริว่า "โครงการชั่งหัวมัน" หลายท่านก็คงจะสงสัยโครงการตามพ พระราชดำรินี้เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ต่างตีความกันไปต่างๆ นานา
         จึงน่าจะทำความเข้าใจโครงการนี้ ว่ามีที่มาอย่างไรให้เข้าใจแจ่มชัดด้วย ที่พระองค์ท่านได้ทรงกระทำให้แก่ชาติบ้านเมืองของเราอีกโครงการหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด 4,000 กว่าโครงการ เป็นโครงการตามพระราชดำริล่าสุด

         ความเป็นมา
         เมื่อปี พ.ศ. 2551  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ  120 ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. 2552 ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก 130 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา  และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้อง ทรงงานที่วังไกลกังวลให้นำมาปลูกไว้ที่นี่  พระราชทานชื่อโครงการว่า “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้วย พระองค์เอง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2552 

         พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เมื่อวันที่  21  สิงหาคม 2552
         ...คนที่ไปดูก็เห็นได้ว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำ แล้วทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ...
         พื้นที่ที่ตั้งของโครงการนี้อยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี คุณดิสธร  วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง  ได้กรุณาให้ข้อมูลถึงที่มาของโครงการชั่งหัวมันว่า
         ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้ นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย  วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ  แล้วพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่า  มันเทศที่วางบนตัวชั่ง มีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หา พื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ
         วัตถุประสงค์ของโครงการ
         1. เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ พืชพันธุ์ดีของอำเภอท่ายาง และของจังหวัดเพชรบุรี
         2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกร
         3. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแปลงหรือมาช่วยงานพระองค์
การดำเนินกิจกรรมภายในโครงการ ประกอบด้วย
         - การใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานทดแทน
         - การสาธิตการปลูกสบู่ดำ
         - การปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ
         - แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตชมพู่เพชรสายรุ้ง
         - แปลงศึกษาและส่งเสริมการผลิตหน่อไม้ฝรั่ง
         - การทำปุ๋ยหมัก
         - การปลูกไม้ผล พืชไร่ ประกอบด้วย แก้วมังกร กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก มะละกอ มะนาว ฟักทอง กล้วย อ้อย มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวห้าว ฯลฯ
         - การปลูกพืชผัก ประกอบด้วย มันเทศ กระเพรา โหระพา พริกพันธุ์ซุปเปอร์ฮอต มะเขือเทศราชินี กระเจี๊ยบเขียว วอเตอร์เครส มะระขี้นก ผักหวานบ้าน ฯลฯ
         สำหรับผลผลิตในโครงการฯ ผักและผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้ จากโครงการมีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวโดยการล้างทำความสะอาด คัดเกรด ตัดแต่ง และบรรจุภาชนะ พร้อมนำไปจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ กองงานส่วนพระองค์ (ห้องเครื่องวังไกลกังวล และสวนจิตรดา) ร้านโกลเด้นเพลสทั้ง 5 สาขา ตลาดกลางการเกษตรหนองบ้วย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

          บ้านไร่ของในหลวง
          
ทะเบียนบ้านเลขที่ 1 เป็นบ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือโฉนดและมีชื่อในทะเบียนบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรทำไร่


ภาพแปลงปลูกพืชเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี

แปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่ง

แปลงปลูกสับปะรด

         คุณนริศ  สมประสงค์ เจ้าหน้าที่งานในพระองค์ โครงการชั่งหัวมัน  เสริมว่าแรกๆ ชาวบ้านก็พากันสงสัยมาก เริ่มตั้งแต่ชื่อโครงการชั่งหัวมันแล้ว
         ชาวบ้านตีความชื่อโครงการกันพอสมควร  แรกๆ ก็ตีความออกไปทางการเมือง ว่าพระองค์ท่าน เบื่อแล้วก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า  ไม่ใช่อย่างนั้น

         เหตุผลจริงๆ คือ หัวมันบนตาชั่งยังขึ้นได้  แล้วที่แห้งแล้งขนาดไหน  มันก็ต้องขึ้นได้
ข้อสงสัยต่อมารวมไปถึง  ทำไมพระองค์ท่านมาซื้อที่ดินที่นี่  ซึ่งแห้งแล้งมาก จะปลูกอะไรก็ลำบาก ติดปัญหาเรื่องน้ำ
ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ครั้งแรก  ผืนดินที่นี่มีแต่ยูคาลิปตัส  ชาวบ้านก็ยังไม่รู้ว่า ในหลวงท่านมาซื้อที่ดินผืนนี้เอาไว้

         คุณนริศ  บอกว่า เราทุกคนคงทราบ อะไรที่ยากลำบากพระองค์ท่านทรงโปรด พระองค์ท่านจะทำให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่า  ทำได้เพื่อจะได้เป็นแม่บทในการที่จะทำ  เหมือนเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมของชาวบ้านที่นี่
         ผืนดินโครงการชั่งหัวมัน  ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน 2 ตำบล ตำบลกลัดหลวง ตำบลเขากระปุก มาช่วยกัน  เกษตรอำเภอก็เข้ามาช่วยจัดสรรพื้นที่ ท่านดิสธรก็เข้ามาร่วมวางแผน จะให้ชาวบ้านปลูกอะไร อยากจะให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน  ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน
         โครงการชั่งหัวมัน อยากให้มีการร่วมมือร่วมแรงกันระหว่างชาวบ้าน ซึ่งทุกคนก็เต็มใจที่จะปลูกถวายให้พระองค์ท่าน  เพราะอยากให้พระองค์ท่านมีความสุข

         หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวไร่ ข้าวโพด มะพร้าว แก้วมังกร กะเพรา พริก มะนาว ถูกจัดสรรลงแปลงปลูกอย่างรวดเร็ว  เหมือนฝันราวกับเนรมิต
         ผลผลิตที่สร้างรายได้ให้มากที่สุด คือ มะนาวพันธุ์พื้นเมือง
ในหลวงท่านทรงมีพระราชดำริว่า ไม่ต้องการให้ใส่สารเคมี หรือถ้าจะใช้ก็ใช้น้อยที่สุด มะนาวของพระองค์ท่าน ผิวจะไม่ค่อยสวย เรียกว่าเป็น มะนาวลาย  แต่ผิวบางน้ำเยอะ เป็นที่ต้องการของตลาด สนนราคาก็ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามกลไกตลาด แต่ละวันไม่เหมือนกัน พระองค์ท่านทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อใช้ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริอีกด้วย
         ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า

         นอกจากแม่แบบด้านการเกษตรแล้ว ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิตขนาด 50 กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 ต้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป
         ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่ ผลิตได้เท่าไร จะเอาไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ทุกเดือนจะมีเงินเหลือ การไฟฟ้าตีเช็คกลับคืนมา 3-4 ครั้งแล้ว

         พื้นที่ทั้งหมดของโครงการชั่งหัวมัน  250 ไร่  วันนี้ถึงจะยังไม่ถูกพัฒนาเต็มทั้งหมดทุกจุด  แต่ในภาพรวมโครงการกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ  อย่างเป็นรูปธรรม
         แค่เพียงไม่กี่เดือน โครงการชั่งหัวมันยังยังเขียวขจีได้ขนาดนี้ หากผ่านไปเป็นปีหลายปี พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งทุรกันดารผืนนี้  คงจะกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกชั้นยอด ขึ้นชื่ออันดับหนึ่งเป็นแน่
         นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้  ที่พสกนิกรชาวไทยที่ทำการเกษตรในผืนดินที่แห้งแล้ง จะได้มีศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม  ทั้งชาวบ้านบริเวณนี้ และเกษตรกรชาวไทย  เพื่อศึกษาและ นำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเองต่อไป
         สถานที่ตั้ง
         เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่เชื่อมติดต่อกับตำบลกลัดหลวงและตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง ที่จุดพิกัด 47PNQ770-092 ระวาง 4934 III แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ติดอ่างเก็บน้ำหนองเสือ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็ก


         การเดินทาง
         จากอำเภอท่ายางผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ไปตามเส้นทางตำบลท่าไม้รวก ผ่านที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขากระปุก – เขาเตาหม้อ ผ่านโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ถึงโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป็นระยะทางประมาณ 47 กิโลเมตร



แหล่งที่มา
      โครงการชั่งหัวมัน. (2553). ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60
จาก http://oknation.nationtv.tv/blog/surasakc/2010/12/03/entry-1