ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

พระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนา

โครงการแก้มลิง
         ความเป็นมาของโครงการแก้มลิง
         โครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2538 จึงมีพระราชดำริ "โครงการแก้มลิง" ขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 โดยให้จัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกไป จึงสามารถลดปัญหาน้ำท่วมได้
         ทั้งนี้ นอกจากโครงการแก้มลิงจะมีขึ้นเพื่อช่วยระบายน้ำ ลดความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลอง จะไปบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และในที่สุดน้ำเหล่านี้จะผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปได้
         แนวคิดของโครงการแก้มลิง

         แนวคิดของโครงการแก้มลิง เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริถึงลิงที่อมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า "ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง" ด้วยแนวพระราชดำรินี้ จึงเกิดเป็น "โครงการแก้มลิง" ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ ไว้รอการระบายเพื่อใช้ประโยชน์ในภายหลัง
         ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง
         ลักษณะของโครงการแก้มลิงจะดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน เพื่อให้น้ำไหลลงคลองพักน้ำที่ชายทะเล จากนั้นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนต่ำกว่าน้ำในคลอง น้ำในคลองจะไหลลงสู่ทะเลตามธรรมชาติ ต่อจากนั้นจะเริ่มสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเอง จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง จนในที่สุดเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับในคลอง จึงปิดประตูระบายน้ำ โดยให้น้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)

         ประเภทของโครงการแก้มลิง        
         โครงการแก้มลิงมี 3 ขนาด คือ

         1. แก้มลิงขนาดใหญ่ (Retarding Basin) คือ สระน้ำหรือบึงขนาดใหญ่ ที่รวบรวมน้ำฝนจากพื้นที่บริเวณนั้นๆ โดยจะกักเก็บไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะระบายลงสู่ลำน้ำ พื้นที่เก็บกักน้ำเหล่านี้ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทุ่งเกษตรกรรม เป็นต้น ลักษณะสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีวัตถุประสงค์อื่นประกอบด้วย เช่น เพื่อการชลประทาน เพื่อการประมง เป็นต้น
         2. แก้มลิงขนาดกลาง เป็นพื้นที่ชะลอน้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ก่อสร้างในระดับลุ่มน้ำ มักเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เช่น หนอง บึง คลอง เป็นต้น
         3. แก้มลิงขนาดเล็ก (Regulating Reservoir) คือแก้มลิงที่มีขนาดเล็กกว่า อาจเป็นพื้นที่สาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ หรือสนามในบ้าน ซึ่งต่อเข้ากับระบบระบายน้ำหรือคลอง
         ทั้งนี้แก้มลิงที่อยู่ในพื้นที่เอกชน เรียกว่า "แก้มลิงเอกชน" ส่วนที่อยู่ในพื้นที่ของราชการและรัฐวิสาหกิจจะเรียกว่า "แก้มลิงสาธารณะ"
         การจัดหาและออกแบบโครงการแก้มลิง
         การพิจารณาจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำนั้น ต้องทราบปริมาตรน้ำผิวดินและอัตราการไหลผิวดินที่มากที่สุดที่จะยอมปล่อยให้ออกได้ในช่วงเวลาฝนตก โดยสิ่งสำคัญคือต้องจัดหาพื้นที่กักเก็บให้พอเพียง เพื่อจะได้ไม่เป็นปัญหาในการระบายน้ำ ปัจจุบันมีแก้มลิงทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร กว่า 20 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางฝั่งธนบุรี เนื่องจากมีคลองจำนวนมาก และระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา

         ทั้งนี้โครงการแก้มลิงแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ โครงการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้คลองที่ตั้งอยู่ชายทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นทางเดินของน้ำ ตั้งแต่จังหวัด สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
         ส่วนที่สอง คือคลองในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้คลองมหาชัย คลองสนามชัย และแม่น้ำท่าจีน ทำหน้าที่เป็นคลองรับน้ำในพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร แล้วระบายลงสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
         นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมให้เร็วขึ้น โดยใช้หลักการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดการระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทย เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ซึ่งโครงการนี้จะประกอบไปด้วย 3 โครงการในระบบคือ
         1. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
         ลักษณะงานก่อสร้างแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมด้วยสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ ปิดกั้นแม่น้ำท่าจีนที่เหนือบริเวณที่ตั้งจังหวัดสมุทรสาครขึ้นไปตามความเหมาะสม ซึ่งในฤดูน้ำหลากประตูระบายน้ำนี้จะทำหน้าที่บังคับ ควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน โดยเปิดระบายน้ำจำนวนมากให้ไหลลงสู่อ่าวไทย ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกเมื่อน้ำทะเลมีระดับต่ำส่วนช่วงเวลาที่น้ำทะเลมีระดับสูง ประตูระบายน้ำนี้จะทำหน้าที่บังคับน้ำภายนอกที่มีระดับสูงไม่ให้ไหลรุกล้ำเข้าไปเหมือนแต่ก่อน และพร้อมกันนั้นเมื่อน้ำจำนวนมากยังคงไหลมาตลอดเวลา ให้สูบน้ำลงแม่น้ำหรือผันออกไปตามทางน้ำด้านฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาออกสู่อ่าวไทยตามความเหมาะสม
         การปฏิบัติเช่นนี้ จะทำให้แม่น้ำท่าจีนด้านเหนือประตูระบายน้ำระยะทางหลายสิบกิโลเมตรมีระดับต่ำกว่าตลิ่งตลอดเวลา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น "แก้มลิง"สามารถรองรับน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีนตอนล่างที่จะระบายลงมา แล้วระบายออกสู่อ่าวไทยต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
         กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2538 ระยะเวลาศึกษา 18 เดือน (จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2540) ผลการศึกษาปัจจุบันถึงระดับความเหมาะสมเบื้องต้น สามารถกำหนดที่ตั้ง และลักษณะโครงการที่เหมาะสม เพื่อออกแบบรายละเอียดต่อไป คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ 2541 เป็นต้นไป
         2. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย - คลองสนามชัย"
         ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเกี่ยวกับแก้มลิง ความตอนหนึ่งว่า  “ ...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก แล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม ลิงจะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจะนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนกินนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...”
         เมื่อปี 2538 กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำชั่วคราว ปิดกั้นคลองต่างๆ จำนวน 10 แห่ง แล้วเสร็จในปี 2539 เพื่อบริหารจัดการน้ำในคลองชายทะเลร่วมกับคลองมหาชัย ให้สอดคล้องกับระดับขึ้น - ลงของน้ำทะเล และต่อมาได้รื้อถอนประตูดังกล่าวเพื่อก่อสร้างประตูถาวรแล้วเสร็จแล้ว และปัจจุบันยังติดตั้งระบบอัตโนมัติที่ประตูเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถบริหารน้ำได้กว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน
         โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 76.42 ตร.กม.ใช้คลองต่างๆเป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำมีความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน 25 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แห่ง ได้แก่

         1. สถานีสูบน้ำคลองขุนราชพินิจใจ กำลังสูบ 30 ลบ.ม./วินาที
         2. สถานีสูบน้ำคลองลูกวัว กำลังสูบ  6 ลบ.ม./วินาที
         3. สถานีสูบน้ำคลองเชิงตาแพ กำลังสูบ 2 ลบ.ม./วินาที
ประตูระบายน้ำจำนวน 8 แห่ง ได้แก่

         1. ปตร.คลองหัวกระบือ
         2. ปตร.คลองรางยายง
         3. ปตร.คลองรางยายเพียร
         4. ปตร.คลองแยกคลองเชิงตาแพ
         5. ปตร.คลองรางโพธิ์
         6. ปตร.คลองบุญสุข
         7. ปตร.คลองรางสะแก
         8. ปตร.คลองนา
         และอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 10 แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสมุทรปราการจำนวน 3 แห่ง  ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงดังกล่าวมีคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ ของสำนักการระบายน้ำ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนต่างๆ การประเมินสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนภัย ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดแก่ประชาชนโดยรวม และสำนักการระบายน้ำจะขยายผลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ ในอนาคต

         3. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"
         ประกอบด้วยประตูปิดกั้นคลองสุนัขหอนพร้อมอาคารประกอบ สถานีสูบน้ำออกจากคลองสุนัขหอน
         โครงการแก้มลิง นับเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ว่า
         "….ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคต จะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่…."
         นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำริเพื่อการแก้ไขและการกำจัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร ในเมืองหลัก และในต่างจังหวัดด้วยวิธีการต่างๆ อีก เช่น
         - การใช้ผักตบชวาช่วยกรองความสกปรกในน้ำเสีย
         - การใช้น้ำดีขับไล่น้ำเสีย
         - การใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา เพื่อบำบัดน้ำเสีย
         - การกำจัดขยะอย่างถูกต้องและไม่เป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทั้งในแม่น้ำใต้ดินและสภาพทางอากาศ

         ด้วยพระปรีชาญาณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์  "โครงการแก้มลิง" จึงเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาวิกฤต และความเดือดร้อนจากน้ำท่วมรอบกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้เบาบางลงไปได้ โดยอาศัยเพียงแค่วิธีการทางธรรมชาติ

         วิดีโอ : ในหลวงทรงเขียนไวท์บอร์ดอธิบายแก้มลิงด้วยพระองค์เอง

       

แหล่งที่มา
      ทศพล  พูนทรัพย์. (2557). โครงการแก้มลิง. ค้นเมื่อวัน 4 ม.ค. 60
จาก http://0908787175.blogspot.com/